อาจารย์เทือง บรมครูหมอเสน่ห์แดนใต้

ประวัติโดยย่อ อาจารย์เทือง อินทอง 

อาจารย์ท่านเกิดในตระกูลอินทอง มีพี่น้องทั้งหมด7คน ทางบ้านมีฐานะธรรมดาทำสวน เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย อาจารย์ย้อนความหลังให้ฟังในวัยเด็กหลังจากเลิกเรียนจะมีหน้าที่ต้อนวัว ต้อนควายไปกินหญ้าแถววัดร้างใกล้ๆบ้าน ซึ่งตอนนั้นท่านเรียนอยู่ชั้นประถมปี่ที่4 แต่อยู่มาวันนึงในขณะที่ท่านต้อนวัวควายไปเลี้ยงตามปกตินั้นท่านก็ได้พบกับพระธุดงค์2รูปได้มาปักกลดที่วัดร้างตรงที่ท่านไปเป้นประจำ ท่านจึงได้เข้าไปกราบและสอบถามพระธุดงค์ทั้ง2รูปนั้น พบว่าท่านธุดงค์มาเพื่อฝึกจิตและแสวงหาความวิเวก องค์แรกชื่อพระอาจารย์อำไพ แสงวันลอย อีกองค์ชื่อ พระอาจารย์สมคิด อินเกิดซึ่งท่านทั้งสองจะมาปักกลดอยู่ที่วัดร้างนี้เพียง2วันและจะเดินทางกลับสำนักใหญ่ที่จ.นครศรีธรรมราช

เด็กชายเทืองในขณะนั้นเมื่อได้ฟังเรื่องเล่าต่างๆจากพระทั้ง2รูปก็เหมือนได้เปิดหูเปิดตาออกไปยังอีกโลกหนึ่งซึ่งไม่เคยพบ ไม่เคยทราบ พระทั้ง2นี้ก็ถูกชะตากับเด็กชายเทืองมากจึงได้เอ่ยปากชวนไห้ติดตามไปกับท่านเพื่อไปปฎิบัติธรรมที่เมืองนครฯ อาจารย์เทืองบอกว่าตอนนั้นด้วยความเป็นเด็ก เพิ่งแค่11ขวบเองเลยตัดสินใจอยากไปด้วย พระอาจารย์ทั้งสองจึงเดินทางมาที่บ้านเพื่อบอกกล่าวทางพ่อแม่ของอาจารย์เป็นเรื่องเป็นราว แล้วจึงออกเดินทางไป

  เมื่อท่านได้เดินทางมากับพระอาจารย์ทั้งสองท่านจนมาถึงวัดชายนา เมืองนครฯที่แห่งนี้นับเป็นสำนักฝึกพระกรรมฐานขนาดใหญ่ โดยมีพระอาจารย์แป้งเป็นเจ้าสำนักเป็นครูใหญ่ที่คอยอบรมฝึกจิตพระกรรมฐาน แต่วันที่อ.เทืองมาถึงพระอาจารย์แป้งไม่อยู่ จึงได้พบเพียงแต่ครูที่อยู่ดูแลสำนักแทน และครูคนนี้ก็จับอ.เทือง เข้าสมาทานรับพระกรรมฐานในคืนวันนั้นเลย ซึ่งครูของอ.เทืองคนนี้นั่นก็คือ หลวงพ่อจำเนียร วัดถ้ำเสือ จ.กระบี่นั่นเอง โดยที่อ.เทืองได้อยู่ฝึกกรรมฐานที่นี่เป็นเวลา3เดือนเต็ม แต่ไม่ได้บวช พ่อแม่ครูบาอาจารย์ให้ท่านดำรงตนเป็นแบบฤาษีโยคีแทนด้วยการถือศีล8ประกอบ จนย่างเข้าเดือนที่8 ทางสำนักวัดชายนาจึงให้มีการฝึกจิตด้วยการเดินธุดงค์โดยมีจุดหมายคือที่จ.เชียงใหม่ ซึ่งตอนนั้นตรงกับปีพ.ศ.2508โดยประมาณ

หลังจากอาจารย์ท่านได้ติดตามคณะธุดงค์ไปถึงเชียงใหม่และได้กราบนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามระหว่างทางไปจนทั่วแล้ว ขากลับลงเมืองนครฯช่วงระหว่างที่แวะพักจ.เพชรบุรี ท่านเกิดมีความพอใจในเมืองเพชรนี้เป็นอย่างมากจึงได้ขอฝากตัวเข้าเรียนสำนักธรรมที่วัดใหญ่สุวรรณนาราม และในยุคนั้น ละแวกนั้นก็มีพระภิกษุชรารูปหนึ่งมีชื่อเสียงด้านพระเวทย์วิทยาคมสูงเป็นที่นับถือของคนทั้งหลายไปทั่ว พระรูปนั้นท่านชื่อหลวงพ่อบุตร วัดพรหมวิหาร

อ.เทืองเองก็สนใจฝักใฝ่ในด้านนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอตกเย็นของทุกวันท่านก็จะเดินจากวัดใหญ่ฯไปวัดพรหมวิหาร เพื่อไปกราบหลวงพ่อบุตร และด้วยความสนใจของท่าน พระพี่เลี้ยงที่รู้จักจึงได้ถ่ายทอดตำรามอบวิชาการทำปลัดต้นไม้รักตายพรายรากชี้ไปทางทิศตะวันออกตำรับหลวงพ่อบุตรที่ได้ครอบครองไว้ให้กับอ.เทืองแบบหมดสิ้น โดยที่อ.เทืองท่านก็สามารถเรียนจำทำได้เพราะภูมิความรู้เดิมท่านได้รับการสั่งสอนด้านเวทย์มาจากพระอาจารย์อำไพ แสงวันทอง พระอาจารย์รูปแรกของท่านมาพอสมควรแล้ว

และในระหว่างที่อาจารย์ท่านอยู่เพชรบุรีท่านยังดั้นด้นเดินทางไปกราบนมัสการพระทองคำแห่งเมืองเพชรเป็นประจำนั่นก็คือหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ ซึ่งอาจารย์เล่าวันสมัยนั้นไปกราบหลวงพ่อแดง หลวงพ่อท่านจะเรียกเข้ามาใกล้ๆแล้วตบหัวท่านเบาๆด้วยความเอ็นดูทุกครั้ง และอ.เทืองท่านมักจะเดินทางไปกราบพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ พระทองคำแห่งเมืองนครฯเป็นประจำเพื่อให้ท่านเมตตาชี้แนะอีกด้วย หลังจากนั้นในขณะที่อาจารย์ท่านเจริญวัยขึ้น ท่านก็ได้เสาะแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อเรียนวิชาเพิ่มเติมอีกมากมาย ดังรายนามพอสรุปได้คร่าวๆ แต่อาจไม่ครบถ้วนดังนี้

-ตาหลวงสงฆ์ เป็นเสือเก่ามีวิชาดีติดตัวมากมาย

-พ่อท่านแสง วัดคลองน้ำเจ็ด เรียนวิชาการเขียนลบผงอิทธิเจ ผงพุทธคุณต่างๆ

-ตาหลวงพ้อม เรื่องเมตตามหานิยม เรียกจิตผูกใจจากดินใจกลางฝ่าเท้า

-สืบทอดตำราจากบรรพบุรุษทวดเกตุ ตาซุ่น ตาหมาดาว ทวดแจ้ง

-ยายทัพ ยายมืด ยายกริบ ยายติ เรียนทำเสน่ห์ สายแป้งเสน่ห์ครูหมอโนราห์ ทำผงยาแฝด

-หมอจางหูเล่ บ้านนาเมืองเพชร เรียนวิชาแขก ส่วนชินดอกไม้เรียนขากโต๊ะหวัน โต๊ะแสง โต๊ะเสพ

แต่อ.เทืองท่านว่าตำราที่ได้รับมาจากพระอาจารย์อำไพ แสงวันลอยนั้นเป็นดั่งตำราบรมครู รวบรวมสรรพเวทย์วิทยาที่ใช้ได้ผลจริงไว้มากมาย และตัวอ.เทืองก็ได้นำมาใช้ถึงปัจจุบัน โดยที่ตัวพระอาจารย์อำไพนี้ภูมิเวทย์แต่เดิมนั้นก็ไม่ธรรมดา นับเป็นครูคนแรกของท่าน ที่เป็นผู้พลิกชะตาชีวิตจากเด็กบ้านนอกเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย และยังได้มอบตำราให้ท่านไว้และธุดงค์จากหายไป และไม่เคยได้พบกันอีกเลย

และนี่คือประวัติคร่าวๆของท่านอ.เทือง อินทอง ยอดอาจารย์ฆราวาสด้านเสน่ห์มหานิยมแห่งแดนใต้ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของอาจารย์ต่างๆมากมายในปัจจุบัน

Visitors: 40,212